"สนุกกับการเรียนรู้ มุมมองของโลกยุคปัจจุบัน"

เล่าเรื่องด้วยภาพ Photo Essay 

 บทความโดย ณัฐวุฒิ สิงห์หนองสวง 


   ในการสื่อสารของผู้ส่งสารนั้น การใช้ตัวอักษรเพียงอย่างเดียวไม่สามารถทำการสื่อสารหรือบอกเล่าเรื่องราวให้แก่ผู้รับสารได้ครบถ้วนทั้งหมด การบันทึกเหตุการณ์หรือเรื่องราวต่างๆ ด้วยการถ่ายภาพทำให้สามารถอธิบายรายละเอียดของสถานการณ์ที่ต้องการสื่อสารได้อย่างครบถ้วน ภาพถ่ายจึงเป็นเสมือนประจักษ์พยานหรือหลักฐานที่มีความน่าเชื่อถือ ดังที่ วินัย ดิษฐจร ช่างภาพแนวข่าวและสารคดี ได้กล่าวไว้ว่า ภาพถ่ายเหมือนหลักฐานพิสูจน์ถึงความจริงของสิ่งเหล่านั้น (จิตสุภางค์ ฉายวิโรจน์, 2557 : ระบบออนไลน์) การถ่ายภาพเป็นหลักฐานที่น่าเชื่อถือเสมอ ดังนั้นภาพถ่ายจึงเป็นองค์ประกอบสำคัญที่สำคัญในการสื่อสารจากผู้ส่งไปยังผู้รับสาร ดังคำกล่าวที่ว่า "ภาพหนึ่งภาพ แทนคำล้านคำ"

   แล้วถ้าหากเล่าเรื่องด้วยภาพมากกว่าหนึ่งภาพ เรื่องราวที่ถูกถ่ายทอดความหมายนั้น จะสร้างความรู้สึกและอารมณ์ให้แก่ผู้รับสารได้มากเพียงใด

   การถ่ายภาพเล่าเรื่องหรือเรียงความภาพถ่าย (Photo Essay) คือ การเรียงลำดับของภาพหลายภาพ เพื่อบอกเล่าเรื่องราวทำให้เกิดชุดของอารมณ์ในมุมมองของผู้ส่งสาร หรือเป็นการนำเสนอเหตุการณ์ผ่านภาพชุด โดยที่ภาพถ่ายแต่ละภาพนำมารวมกันสามารถเล่าเรื่อง บันทึกเหตุการณ์ต่อเนื่องได้ตามวัตถุประสงค์ของผู้สร้างสรรค์ที่ต้องการสื่อสารไปยังผู้รับได้เข้าใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เหตุการณ์สำคัญที่ ต้องการสื่อสารเป็นขั้นเป็นตอนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้รับสารได้เข้าใจถึงช่วงอารมณ์และสารของผู้ส่งสารที่ต้องการสื่อ

   กระบวนการสร้างสรรค์ภาพถ่าย Photo essays เหมือนกับการเขียนเรียงความ ต้องมีแบบแผน ใช้ แผนผังความคิด (Concept map) เพื่อให้ความคิดมีจุดโฟกัสแค่เพียงหนึ่งเดียว แก่นของเรื่องในการนำเสนอต้องมีความชัดเจนเลือกแก่นของเรื่องที่เหมาะกับจุดประสงค์ ฉากหรือองค์ประกอบของภาพบ่งบอกสถานที่และเวลา ในการสร้างสรรค์ผลงานสิ่งสำคัญสำหรับผู้สร้างสรรค์ ภาพนำในการเล่าเรื่องเพื่อดึงความสนใจมาสู่แก่นของเรื่อง ภาพจบให้คนดูมีอารมณ์ร่วม


   ตัวอย่างการสร้างสรรค์ผลงานแบบของภาพเล่าเรื่อง (Photo Essay) “พิธีศพของชาวเนปาล” ที่ผู้เขียนต้องการหยิบยกเรื่องราวที่สะท้อนความเชื่อผ่านการแสดงออกทางวัฒนธรรมของชาวเนปาล


แนวความคิดของการสร้างสรรค์

   บริบทสังคมแต่ละสังคมที่แตกต่างกัน ก่อให้เกิดประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่แตกต่าง เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละสังคม การบันทึกประวัติศาสตร์เกี่ยวกับวัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิตโดยการใช้เทคนิคการถ่ายภาพเล่าเรื่อง (Photo Essay) ทำให้มีหลักฐานเชิงประจักษ์เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสะท้อนวัฒนธรรมแต่ละสังคมผ่านวิถีชีวิต

   การถ่ายภาพเล่าเรื่อง(Photo Essay) บันทึกพิธีศพของชาวเนปาล เป็นพิธีกรรมทางศาสนาที่มีความเชื่อสืบต่อกันมาหลายชั่วอายุคน ซึ่งพิธีศพของชาวเนปาลในเมืองกาฐมาณฑุจะจัดขึ้นในวัดปศุปาตินาถหรือวัดหลังคาทองคำอันเป็นวัดศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองที่สำคัญที่สุดของชาวเนปาลที่นับถือศาสนาฮินดู ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำบาคมาตี (BAGMATI)

   การผนวกการเล่าเรื่องเข้ากับการเกิดของความหมาย 3 ประเภทตามแนวคิดของ Roland Barthes ภาพ 1 ภาพ มีสัญญะต่างๆ อยู่ และมีทั้งความหมายตรงเห็นอะไรก็เป็นอย่างนั้น และอีก 2 ความหมายเกิดจากประสบการณ์ทางวัฒนธรรมทำให้เกิดความหมายแฝงจากภาพ และเรื่องราวจากภาพที่เป็นความหมายเชิงมายาคติ เพราะจะทำให้สรุปองค์ความรู้ได้จากข้อที่ 4 (ภาพแสดงการแนวคิดของ Roland Barthes)


John Fiske : introduction to communication studies (1990 : 93)


   ในการถ่ายภาพเล่าเรื่องขนาดภาพถ่ายในการถ่ายภาพควรมีขนาดภาพที่แตกต่างกันเพื่อครอบคุลมเหตุการณ์และการสื่อความหมายให้ผู้รับสารเข้าใจผลงาน ขนาดภาพในการถ่ายภาพมีขนาดภาพควรมี 3 ระยะ ดังนี้คือระยะไกล (Long shot) ระยะปานกลาง (Medium shot) และระยะใกล้ (Close-up shot)

  • การถ่ายระยะไกล (Long shot)เพื่อให้เห็นสถานที่หรือเหตุการณ์ทั้งหมดอย่างกว้าง ๆเพื่อให้ผู้รับสารเห็นความสัมพันธ์ขนาดและมาตราส่วนของสิ่งที่อยู่ในเหตุการณ์นั้น ๆ
  • การถ่ายระยะปานกลาง (Medium shot) เพื่อให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างวัตถุกับส่วนประกอบสำคัญอื่น ๆ และสิ่งแวดล้อมบางส่วนที่ต้องการสื่อสาร
  • ถ่ายระยะใกล้ (Close-up shot) เพื่อเน้นให้เห็นรายละเอียดที่ต้องการเน้น ซึ่งบางทีก็อาจเห็นแค่ใบหน้า หรือส่วนหนึ่งส่วนใดของวัตถุที่ต้องการสื่อสาร

กระบวนการสร้างสรรค์

   การสร้างสรรค์ผลงานภาพพิธีศพของชาวเนปาลบันทึกภาพที่วัดปศุปาตินาถ(Pashupatinath temple) เป็นวัดที่ศักดิ์สิทธิ์ของชาวเนปาล ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำบาคมาตี(BAGMATI) เมืองกาฐมาณฑุเมืองหลวงของประเทศเนปาล บันทึกภาพในวันที่ 26 กันยายน 2556

   การถ่ายภาพเล่าเรื่อง(Photo Essay) บันทึกพิธีศพของชาวเนปาล เริ่มจากการถ่ายทอดภาพเหตุการณ์หลังจากผู้ตายเสียชีวิต ซึ่งในความเชื่อของชาวเนปาลจะต้องจัดการพิธีศพภายใน 24 ชั่วโมง สำหรับคนเสียชีวิตโดยธรรมชาติสำหรับคนตายด้วยโรคติดต่อจะประกอบพิธีไม่เกิน 12 ชั่วโมง

การสร้างสรรค์ผลงานมีขั้นตอนดังต่อไปนี้

  1. ศึกษาข้อมูลเบื้องต้นในเกี่ยวกับพิธีกรรม และสถานที่ในการจัดพิธี โดยการสอบถามมัคคุเทศก์
  2. สำรวจพื้นที่โดยรอบในพื้นที่การจัดพิธีกรรม
  3. ถ่ายภาพพิธีกรรม โดยเริ่มจากจุดที่ 1 การทำความสะอาดศพ และจุดที่ 2 นำศพมาเผาและลอยลงแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์
  4. คัดเลือกภาพเพื่อเผยแพร่

ตัวอย่างผลงาน

   พิธีศพของชาวเนปาลจัดขึ้นบริเวณด้านบนของแม่น้ำบาคมาตี (BAGMATI) ณ วัดปศุปาตินาถอันเป็นวัดศักดิ์สิทธิ์ของชาวเนปาล ซึ่งชาวเนปาลเชื่อกันว่าการเผาศพและทิ้งเถ้าถ่านลงในแม่น้ำจะนำผู้ตายไปสู่สรวงสวรรค์เช่นเดียวกับแม่น้ำคงคาในประเทศอินเดีย





ภาพที่ 1 บรรดาญาติก็จะนำร่างของผู้ตายมาประกอบพิธีโดยการชำระร่างกายของผู้ตาย (ความเชื่อของคนเนปาลที่นับถือศาสนาฮินดู แม่น้ำบาคมาตี ถือนำเป็นแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ )




ภาพที่ 2 ญาติยืนดูการล้างหน้าศพริมแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์





ภาพที่ 3 พิธีล้างหน้าศพ



ภาพที่ 4 ทำพิธีล้างหน้าศพและใช้ผงสีแดงแต้มตรงกลางหน้าผากระหว่างกลางศีรษะ




ภาพที่ 5 เคลื่อนย้ายศพจากด้านบนแม่น้ำลงมาด้านล่างเพื่อเตรียมเผา


ภาพที่ 6 ผ้าคลุมร่างรอทำพิธี ยกศพขึ้นบนกองฟอน[1]เพื่อเผา 


ภาพที่ 7 นำศพขึ้นกองฟอน


ภาพที่ 8 ผู้นำทางศาสนาทำพิธีเผาศพ


ภาพที่ 9 เปลวไฟจากกองฟอน


ภาพที่ 10 เปลวไฟลุกโชนเพื่อนำร่างไร้วิญญาณไปสู่สุคติ


ภาพที่ 11 กองไฟเผาร่างผู้เสียชีวิต


ภาพที่ 12 จำนวนกองไฟเผาศพ และศพรอเผาไม่ขาดสาย


ภาพที่ 14 เปลวไฟเริ่มมอดพร้อมร่างที่กลายเป็นเถ้าถ่าย เมื่อเผาศพเสร็จก็จะทิ้งเถ้าถ่านลงในแม่น้ำอันศักดิ์สิทธิ์[2]



ภาพที่ 15 เตรียมพื้นที่เพื่อก่อกองฟอนและเผาศพต่อไป

องค์ความรู้ของการสร้างสรรค์

การสื่อความหมาย

   บริบทการสื่อสาร(Context) การสร้างเรื่องราวที่มีความต่อเนื่องเชื่อมโยงกัน จากภาพที่ 1 ไปยังภาพต่อไปมีการเชื่อมโยงโดยบริบทการสื่อสารของภาพ ซึ่งการเรียงลำดับภาพ ภาพบางส่วนของภาพที่ 1
จะไปปรากฏในภาพที่ 2 และภาพต่อไปๆ โดยบริบทในภาพที่เห็นได้เด่นชัด คือการทำพิธีกรรมริมแม่น้ำ ตั้งแต่เริ่มพิธีกรรมจนสิ้นสิ้นพิธีกรรม และบริบทดังกล่าวทำให้ผู้รับสารโยงเรื่องราวเป็นเรื่องเดียวกันได้

   การใช้รหัส(Code) การสื่อสารโดยการใช้รหัสเพื่อสร้างความหมายในการสื่อสาร รหัสของเทคโนโลยี(รหัสของกล้อง) ช่วยในการสร้างอารมณ์ของภาพเพื่อการสื่อความหมาย จากมุมกว้างเห็นองค์ประกอบของภาพ เป็นภาพมุมแคบเห็นอารมณ์ของภาพที่ต้องการสื่อความหมาย

   จากแนวคิดของ Roland Barthes ภาพ 1 ภาพ มีสัญญะต่างๆ อยู่ และมีทั้งความหมายตรงเห็นอะไรก็เป็นอย่างนั้น และอีก 2 ความหมายเกิดจากประสบการณ์ทางวัฒนธรรมทำให้เกิดความหมายแฝงจากภาพ และเรื่องราวจากภาพที่เป็นความหมายเชิงมายาคติ

  1. ความหมายตรง (Denotation) สิ่งที่ทุกคนมองเห็นภาพ “งานพิธีศพของชาวเนปาล” ริมแม่น้ำ
  2. ความหมายแฝง (Connotation) เกิดจากประสบการณ์ทางวัฒนธรรม (สำหรับผู้รับสารที่เป็นคนเนปาลอาจรู้สึกเศร้า หดหู่) แต่สำหรับคนที่มีวัฒนธรรมที่แตกต่างอาจจะรู้สึกเฉยๆ หรือกลัวจากการเห็นศพ หรืออาจรู้สึกแปลกที่เห็นการทำพิธีศพริมแม่น้ำ 
  3. ความหมายเชิงมายาคติ (Myth) เกิดจากประสบการณ์ทางวัฒนธรรมเรื่องราวพิธีศพของผู้รับสารที่แตกต่างกันก่อให้เกิดความเชื่อที่แตกต่างกัน หรือผู้รับสารบางคนอาจไม่รู้สึกอะไรเลย เช่น การทำพิธีและโยนเถ้าถ่านลงในแม่น้ำของชาวเนปาล มีความเชื่อในเรื่องแม่น้ำอันศักดิ์จะนำพาผู้ตายไปสู่สรวงสวรรค์ ถ้าเป็นคนไทยจะนำอัฐิไปลอยกลางแม่น้ำหรือที่เรียกว่าลอยอังคาร เพราะเชื่อว่าให้เกิดความร่มเย็น เป็นการนำเถ้าถ่านไปคืนสู่ธาตุต่างๆ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการละวางความเป็นตัวเป็นตน

   จากภาพจะเห็นได้ว่าความหมายจากการมองภาพไม่ได้อยู่คงตัว ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ทางวัฒนธรรมของแต่ละบุคคล และความหมายที่จะรู้เรื่องเดียวกันได้เฉพาะคนที่มีวัฒนธรรมเหมือนกัน หรือเข้าใจวัฒนธรรมที่เหมือนกัน การสื่อความหมายของภาพต้องดูองค์รวมของภาพ การดูทีละภาพอาจสื่อความหมายไม่ได้ตามวัตถุประสงค์
  • ผลงานที่ได้สะท้อนให้เห็นพิธีกรรมวัฒนธรรมหลังความตายของคนเนปาล 
  • ผลงานได้สะท้อนให้เห็นความเชื่อที่มีต่อแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ที่สืบทอดต่อกันมา โดยเถ้าถ่านที่ผ่านการเผาจะถูกปล่อยลงแม่น้ำบาคมาตี(BAGMATI) แม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ของชาวเนปาลซึ่งเชื่อว่าจะนำผู้ตายไปสู่สรวงสวรรค์
  • ผลงานการเล่าเรื่องด้วยภาพ(Photo Essay) เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์

ข้อจำกัด

   ในการสร้างสรรค์ผลงานควรมีภาพถ่ายระยะใกล้ (Close-up shot) เพื่อเน้นให้เห็นรายละเอียดที่ต้องการเน้น ซึ่งบางทีก็อาจเห็นแค่ใบหน้า หรือส่วนหนึ่งส่วนใดของวัตถุที่ต้องการสื่อสารให้มากขึ้น แต่เนื่องจากผู้สร้างสรรค์ไม่สามารถเข้าไปใกล้พิธีการได้จึงทำให้มีภาพระยะใกล้น้อย

เอกสารอ้างอิง

John Fiske : introduction to communication studies (1990 : 93)

จิตสุภางค์ ฉายวิโรจน์ : บทสัมภาษณ์ วินัย ดิษฐจร การถ่ายภาพไม่ใช่แค่กดชัตเตอร์ แต่มันคือการใช้ชีวิต. เข้าถึงได้จาก http://www.tcdc.or.th/src/8658?sphrase_id=3380928 (วันที่สืบค้น 23 ตุลาคม 2560)

มาลีนา มะสาแม : พิธีศพแห่งคงคา. เข้าถึงได้จาก http://sameaf.mfa.go.th/th/country/south-asia/tips_detail.php?ID=2657 (วันที่สืบค้น 26 ตุลาคม 2560)

ศิริชัย ศิริกายะ : หลักและทฤษฎีนิเทศศาสตร์. กรุงเทพ. มหาวิทยาลัยสยาม (2556)

สมโชค เฉตระการ : "ผาศพกันให้เห็นๆ ที่ริมแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ ข้างวัดปศุปาตินา (PASHUPATINATH) หรือ วัดหลังคาทองคำ". เข้าถึงได้จาก http://www.oknation.net/blog/print.php?id=797433 (วันที่สืบค้น 23 ตุลาคม 2560)

Aphoto-essay เข้าถึงได้จาก http://en.wikipedia.org/wiki/Photo-essay (วันที่สืบค้น 23 ตุลาคม 2560)

[1]กองฟอน กองไม้ที่เป็นเชื่อเพลิงสำหรับเผาศพ

[2](ความเชื่อของชาวเนปาล ทิ้งเถ้าถ่านลงในแม่น้ำอันศักดิ์สิทธิ์ จะนำผู้ตายไปสู่สรวงสวรรค์)

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ความเป็นมาของการตัดต่อ

การสร้างสรรค์ภาพเคลื่อนไหว (Panning)