การสร้างสรรค์ภาพเคลื่อนไหว (Panning)

การสร้างสรรค์ภาพเคลื่อนไหว (Panning)

* ณัฐวุฒิ สิงห์หนองสวง


     บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่ออธิบายงานสร้างสรรค์การถ่ายภาพเคลื่อนไหว (Panning) โดยอธิบายเทคนิคกระบวนการถ่ายภาพเคลื่อนไหว (Panning) ในแนวระนาบ และในแนวดิ่ง เพื่อใช้ในการสื่อสาร

     การถ่ายภาพมีเทคนิค รูปแบบในการสร้างสรรค์ที่หลากหลายอยู่ที่ตัวผู้ส่งสารจะสร้างสรรค์ออกมาในรูปแบบไหน หรือต้องการให้ผู้รับสารถอดรหัสอย่างไร อาทิเช่น เทคนิคการถ่ายภาพกลางคืน การถ่ายภาพบุคคล การถ่ายภาพแฟชั่น สำหรับการถ่ายภาพเคลื่อนไหว (panning) คือเทคนิคการถ่ายภาพที่ช่างภาพผู้สร้างสรรค์ต้องการเน้นที่วัตถุหรือสิ่งที่ของที่ต้องการถ่ายเพื่อสร้างจุดดึงดูดความสนใจของภาพ ซึ่งฉากหลังของภาพของงภาพจะไม่ชัดหรือไม่เห็นความสำคัญของฉากหลัง ดังนั้นผู้เขียนต้องการหยิบยกรูปแบบการสร้างสรรค์ในการสื่อสารผ่านเลนส์โดยใช้เทคนิคการถ่ายภาพเคลื่อนไหว

     การถ่ายภาพเคลื่อนไหว (Panning) หมายถึง การการถ่ายภาพวัตถุที่กำลังเคลื่อนไหวให้เห็นวัตถุชัด ส่วนฉากหลังพร่ามัวเป็นทางยาว หรือการแพนกล้องไประหว่างกดซัดเตอร์ที่ความเร็วต่ำ การถ่ายภาพในลักษณะนี้ จะต้อง แพนกล้อง (Panning) ตามวัตถุที่กำลังเคลื่อนไหว พร้อม ๆ กับการกดชัตเตอร์ ความเร็วชัตเตอร์ต้องตั้งให้ช้า เช่น 1/60 วินาที 1/30 วินาที1/15 วินาที หรือช้ากว่าทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความเร็วของวัตถุที่เคลื่อนที่ด้วยการปรับระยะชัดให้ปรับไปตรงจุดที่วัตถุ เคลื่อนที่ผ่าน และการถ่ายภาพลักษณะนี้ควรจับถือกล้องให้นิ่งและมั่นคง หรือควรใช้ขาตั้งกล้องช่วย เพื่อไม่ให้กล้องสั่นไหว

กระบวนการสร้างสรรค์

     การสร้างสรรค์การถ่ายภาพเคลื่อนไหว (panning) การถ่ายภาพในลักษณะนี้จะต้องมีการเคลื่อนกล้องตามวัตถุที่กำลังเคลื่อนไหว พร้อมๆ กับการกดชัตเตอร์ มีขั้นตอนในการสร้างสรรค์ ดังนี้

1. อุปกรณ์
     ในการสร้างสรรค์ภาพในลักษณะภาพเคลื่อนไหวอุปกรณ์ที่ต้องเตรียมคือ กล้อง เลนส์ ซึ่งเลนส์ที่ใช้สามารถใช้ได้ทั้งเลนส์มาตรฐาน (standard) เลนส์มุมกว้าง(wide) เลนส์ระยะไกล(telephoto)อุปกรณ์เสริมอีกอย่างที่ควรมีในใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำๆ คือ ขาตั้งกล้อง


@www.the-than.com
ภาพที่ 1 ภาพเลนส์รูปแบบต่างๆ


2. สถานที่
     การเลือกสถานที่ในการสร้างสรรค์ควรเลือกสถานที่ที่มีพื้นที่พอสำหรับการแพนกล้องสำหรับผู้บันทึกภาพ และไม่อันตรายเกินไป เพราะส่วนใหญ่การบันทึกภาพในลักษณะดังกล่าวจะถ่ายภาพรถวิ่ง หรือวัตถุที่เคลื่อนที่ด้วยความเร็ว


3. องค์ประกอบของภาพ
     การจัดองค์ประกอบของภาพ เลือกมุมภาพที่ต้องการสื่อสารคือกำหนดภาพที่เราต้องการล่วงหน้าต้องการได้ภาพแบบไหน กำหนดฉากหลัง กำหนดวัตถุที่เราต้องการสื่อสารให้กับผู้รับสาร


4. ปรับกล้อง
     เมื่อได้สถานที่และจัดองค์ประกอบของภาพที่ต้องการสื่อสารก่อนถ่ายผู้บันทึกภาพต้องทำการกำหนดความเร็วชัตเตอร์ กำหนดรูรับแสงของกล้องถ่ายภาพ ให้สัมพันธ์กับความเร็วของวัตถุที่เราต้องการถ่าย โดยที่วัตถุช้าเท่าไหร่ความเร็วชัตเตอร์ก็ต่ำไปด้วย ซึ่งถ้าใช้ความเร็วชัตเตอร์ตำกว่า 1/60 วินาที ควรใช้ขาตั้งกล้อง


5. การสร้างสรรค์
     ในการสร้างสรรค์ผลงานในลักษณะดังกล่าวอาจจะต้องกดชัตเตอร์เพื่อสร้างสรรค์ผลงานเป็น 100 ภาพ ถึงจะได้ภาพที่เราพอใจ และสื่อสารไปยังผู้รับสารได้อย่างดี การถ่ายภาพดังกล่าวเมื่อปรับค่าของกล้องเรียบร้อยแล้ว ให้เราหยิบกล้องแล้วลองแพนกล้องหรือกวาดกล้องไปมาซ้ายขวา โดยไม่มีวัตถุเพื่อเช็คความพร้อมของร่างกาย 3-4 รอบ เมื่อได้ที่ก็ลงมือสร้างสรรค์ผลงานได้ การถ่ายคือ 3.1 วัตถุเคลื่อนที่มาให้เราแพนกล้องตามวัตถุพร้อมโฟกัสตาม 3.2 ถึงระยะที่เราต้องการให้กดชัดเตอร์3.3 แพนกล้องตามวัตถุ เทคนิคในการถ่ายภาพดังกล่าวให้เราหมุนสะโพกตามวัตถุไปด้วย ไม่ใช่แค่บิดเอว


6. การแต่งภาพ
     หลังจากสร้างสรรค์ผลงานเราต้องมีการทำภาพมาตกแต่งเพิ่มเติม เช่น การครอปภาพเพราะระหว่างถ่ายทำอาจมีสิ่งกีดขวางหรือวัตถุที่เราไม่ต้องการ หรือภาพไม่ได้ขนาดที่เราต้องการ หรือปรับสีสัน ตามสิ่งที่เราต้องการสื่อสารไปยังผู้รับสาร


ผลงาน

     การเริ่มสร้างสรรค์ผลงานโดยการถ่ายภาพแพนนิ่ง การเริ่มถ่ายรถเป็นวัตถุที่หลายคนให้ฝึกหรือทดลองเนื่องจากหาถ่ายได้ง่าย งานสร้างสรรค์ในภาพ ฉากหลังของภาพไม่เบลอมากเนื่องจากความเร็วชัตเตอร์ที่สูง (ความเร็วชัตเตอร์ต่ำ และการแพนกล้องของช่างภาพจะทำให้ฉากหลังเบลอ)

     การถ่ายภาพเคลื่อนไหว (panning) ในแนวระนาบ
ภาพ เทคนิคการสร้างสรรค์

     ภาพที่ 2 รถรับจ้าง ณ เมืองกาฐมาณฑุประเทศเนปาล การสร้างสรรค์ผลงานดังกล่าวปรับค่ากล้องดังนี้ ISO 200 f11 S1/60 วินาที เลนส์ 50 มม.วาดกล้องจากด้านซ้ายไปขวา


     ภาพที่ 3 ปั่นแซง ณ เมืองกาฐมาณฑุประเทศเนปาล การสร้างสรรค์ผลงานดังกล่าวปรับค่ากล้องดังนี้ISO 200 f11 S1/60 วินาที เลนส์ 50 มม.โดยการวาดกล้องจากขวาไปซ้ายตามวัตถุ แต่ผลงานดังกล่าวยังไม่สมบูรณ์เนื่องจากส่วนของรถจักรยานยนต์ขาดหายไป การฝึกสร้างสรรค์ผลงานเปลี่ยนวัตถุจากวัตถุที่วิ่งเร็ว มาถ่ายวัตถุที่วิ่งช้าซึ่งการแพนกล้องของช่างภาพก็ต้องเร็วขึ้นให้สมดุลกับภาพที่ต้องการถ่าย


     ภาพที่ 4จิ๊บนี่คู่ ณ เมืองมะนิลา ฟิลิปปินส์


     ภาพที่ 5ผลงานหลังจากครอปภาพ การสร้างสรรค์ผลงานดังกล่าวปรับค่ากล้องดังนี้ISO 250 f5.0 S1/80 วินาที เลนส์ 17 มม.การสร้างสรรค์ผลงานภาพถ่ายโดยเฉพาะในการถ่ายภาพแพนนิ่ง ช่างภาพต้องใช้วิธีการครอปภาพหาความสมบูรณ์ของงานที่สร้างสรรค์ โดยไม่จำเป็นที่ต้องใช้ขนาดของมาตรฐานเสมอไปอยู่ที่เราต้องการนำไปใช้เพื่อประโยชน์อะไร เช่นภาพที่ 6 และ ภาพที่ 7 เมื่อครอปภาพแล้วทำให้ผลงานมีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น


     ภาพที่ 6สามล้อ ณ เมืองมะนิลา ฟิลิปปินส์


     ภาพที่ 7ผลงานหลังจากครอปภาพ การสร้างสรรค์ผลงานดังกล่าวปรับค่ากล้องดังนี้ISO 250 f5.0 S1/80 วินาที เลนส์ 17 มม.เมื่อทำการครอปภาพ สามารถนำไปใช้ในการสื่อสารได้ดีกว่าขนาดภาพต้นฉบับ


     ภาพที่ 8คู่หู ณ เมืองกาฐมาณฑุประเทศเนปาล


     ภาพที่ 9จักรยาน ณ เมืองกาฐมาณฑุประเทศเนปาล ภาพที่ 8 มีการตั้งค่ากล้องดังนี้ISO 200 f22 S1/60 วินาที เลนส์ 70 มม.ส่วนภาพที่ 9 มีการตั้งค่ากล้องดังนี้ISO ภาพ200 f22 S1/60 วินาที เลนส์ 70 มม.

     การถ่ายภาพแพนนิ่ง ในกรณีช่างภาพบันทึกภาพไม่สอดคล้องกับการเคลื่อนไหวของวัตถุหรือแพนกล้องไม่ทัน ผลงานที่ได้ก็จะออกมาไม่สมบูรณ์หรือใช่ไม่ได้ ดังภาพที่ 8ความชัดของภาพใช้ไม่ได้ และองค์ประกอบของภาพก็ไม่สมบูรณ์ ภาพที่ 9การแพนกล้องและความเร็วชัดเตอร์ไม่สัมพันธ์กัน

การถ่ายภาพเคลื่อนไหว (panning) ในแนวดิ่ง


     ภาพที่ 10สามล้อ ประเทศฟิลิปปินส์ การสร้างสรรค์ผลงานดังกล่าวปรับค่ากล้องดังนี้ISO 800 f14 S1/80 วินาที เลนส์ 36 มม.การสร้างสรรค์ผลงานในแนวดิ่งลักษณะการถ่ายภาพจะคล้ายกับแนวระนาบในการวาดหน้ากล้องและกดชัตเตอร์ แต่สิ่งที่แตกต่างคือการหาสถานที่ผู้สร้างสรรค์จะต้องอยู่สูงกว่าวัตถุ ซึ่งผลงานที่ออกมากก็จะแตกต่างเป็นมุมมองที่ใหม่ในการสื่อสารไปยังผู้รับสาร


     ภาพที่ 11 วิ่งแข่ง ประเทศฟิลิปปินส์ การสร้างสรรค์ผลงานดังกล่าวปรับค่ากล้องดังนี้ISO 800 f14 S1/80 วินาที เลนส์ 17 มม.หลังจากการแพนกล้องในระนาบปกติ เรามีการสร้างสรรค์ผลงานภาพถ่ายแพนนิ่งในแนวดิ่ง ซึงกระบวนการสร้างสรรค์ หรือการถ่ายภาพก็เหมือนการถ่ายภาพในแนวระนาบ แต่สิ่งที่เพิ่มเติมคือช่างภาพต้องอยู่สูงกว่าวัตถุ ผลงานที่ได้ก็จะให้อารมณ์ที่แตกต่างจากภาพปกติ ดังตัวอย่างภาพที่ 10,11

องค์ความรู้ของการสร้างสรรค์


     ในการถ่ายภาพเคลื่อนไหว (panning) ความเร็วชัตเตอร์ที่ถูกต้องสำหรับการถ่ายตอนแพนกล้อง เวลาถ่ายนักวิ่ง คนปั่นจักรยาน รถยนต์ ซึ่งไม่สามารถกำหนดตายตัวได้ขึ้นอยู่กับความเร็วของวัตถุและการเคลื่อนไหวกล้องของช่างภาพให้มีความสัมพันธ์กัน และนี้คือเสน่ห์และความยากของการถ่ายภาพในรูปแบบนี้ และการถ่ายภาพด้วยความเร็วชัตเตอร์ที่ต่ำฉากหลังก็เบลอมากตามไปด้วย

     เทคนิคในการถ่ายภาพคือ การแพนกล้องหรือการวาดหน้ากล้องตามวัตถุให้ทันแล้วกดชัตเตอร์พร้อมยังแพนตามวัตถุต่อไปไม่หยุดนิ่ง และช่างภาพต้องปรับโพกัสให้ตรงกับวัตถุที่เราต้องการบันทึกภาพแล้วกดชัดเตอร์ ซึ่งช่างภาพต้องโฟกัสตามภาพตั้งแต่แรกจนถึงการกดชัตเตอร์

     การเลือกฉากหลังมีความสำคัญอย่างมากในการถ่ายภาพในรูปแบบการแพนนิ่ง ซึ่งถ้าเราถ่ายภาพในที่โล่งก็อาจจะทำให้ไม่รู้สึกถึงการเคลื่อนไหว เพราะเส้นสายในลักษณะเบลอๆ จะมีน้อย ฉากหลังที่มีสีสันสวยงามจะทำให้ภาพถ่ายมีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น ดังนั้นการเลือกฉากหลังที่เหมาะสมจึงเป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้ตัวแบบหรือวัตถุที่ต้องการถ่าย

     การเลือกใช้สปีดชัตเตอร์ช้ามากเกินความจำเป็นไม่ใช่วิธีที่จะทำให้ได้ภาพแนวนี้ เพราะหากเปิดหน้ากล้องนานเกินไป ก็อาจจะทำให้ภาพทั้งภาพสั่นไหวไปหมดจากอาการไม่มั่นคงของการจับถือกล้องของช่างภาพ ดังนั้นจึงต้องใช้สปีดชัตเตอร์ที่ไม่ช้าและไม่เร็วเกินไปจึงจะได้ผลดี ซึ่งการหาความเร็วของสปีดชัตเตอร์ที่เหมาะสมนั้นอยู่ที่ประสบการณ์ของช่างภาพ เพราะการถ่ายมากๆ จะมีความคุ้นชินและบอกได้ว่าวัตถุที่มีความเร็วประมาณนี้ควรใช้สปีดชัตเตอร์เท่าไหร่ ปัจจัยที่สำคัญคือความเร็ว และรัศมีในการแพนกล้องซึ่งต้องสัมพันธ์กับการเคลื่อนไหวของวัตถุ หากแพนกล้องเร็วหรือช้าเกินไปก็จะทำให้วัตถุขาดความคมชัดและทำให้ภาพเสียหาย


สรุป

     การสร้างสรรค์ผลงานในรูปแบบภาพเคลื่อนไหว (panning) ทั้งในแนวระนาบ และแนวดิ่ง นั้น ผู้สร้างสรรค์ต้องกำหนดความเร็วชัตเตอร์ ความเร็วในการวาดหน้ากล้องหรือความเร็วในการแพนกล้องของผู้สร้างสรรค์ ให้สอดคล้องกับความเร็วของวัตถุ โดยทั้งหมดต้องมีความสัมพันธ์กัน โดยการถ่ายภาพแพนนิ่งคือการวาดหน้ากล้องตามวัตถุที่เคลื่อนไหวแล้วกดชัตเตอร์พร้อมยังวาดกล้องตามวัตถุต่อไปไม่หยุดนิ่ง ภาพที่ได้ด้านหลังก็จะเบลอวัตถุที่ต้องการสื่อสารก็จะชัด ซึ่งต้องใช้ความเร็วชัตเตอร์ให้สอดคล้องกับความเร็วของวัตถุ


เอกสารอ้างอิง

ณัฐวุฒิ สิงห์หนองสวง. (2558). การสร้างสรรค์ภาพนิ่งเพื่อสื่อความเคลื่อนไหวแบบการแพนกล้อง. วารสารนิเทศสยามปริทัศน์, 14(17). 52-59.
Scott Kelby. (2555). The Digital Photography Volume 4 (นิพัทธ์ ไพบูลย์พรพงศ์, ผู้แปล).
สำนักพิมพ์ทรูไลฟ์.
Scott Kelby. (2557). The Digital Photography Volume 5 (นิพัทธ์ ไพบูลย์พรพงศ์, ผู้แปล).
สำนักพิมพ์ทรูไลฟ์.
Tips & Tricks by sony. (2558). Camera Panning เทคนิคการแพนกล้องหรือการกวาด หน้ากล้องไปตาม
การเคลื่อนที่ของวัตถุ. เข้าถึงได้จาก http://www.360onlinecampaigns.com/sony-alpha/tips-detail.php?id=4&mode=38
Patricia Anderson.(1991) The Printed Image and the Transformation of Popular Culture.
1790-1860. London Oxford University Press.
















ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ความเป็นมาของการตัดต่อ